top of page

ความเป็นมาและความรื่นเริงระบำหน้ากากภูฎาน

ความเป็นมาและความรื่นเริงระบำหน้ากากภูฎาน

     ชาวภูฎานเชื่อว่าท่าร่ายรำต่างๆนี้มาจากนิมิตของท่านกูรู รินโปเช ดังนั้นการแต่งกายและท่วงท่าร่ายรำจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆได้ท่าที่ร่ายรำนั้นจึงเป็นแบบโบราณ การร่ายรำยังเสมือนเป็นการถ่ายทอดตำนานแห่งพระพุทธศาสนาตันตระยาน และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระโพธิสัตว์และเทพยดาทั้งปวง

     ผู้แสดงจะแต่งกายด้วยชุดกระโปรงบานเป็นชั้นๆทำด้วยผ้ามีสดใส สวมหน้ากากเป็นรูปภูตผีปีศาจ สัตว์ หรือเทพเจ้า ใช้เครื่องประดับที่ทำจากกระดูกสัตว์ องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้การเต้นระบำหน้ากากนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกเมื่อ พ.ศ. 2548


การระบำหน้ากากทางศาสนาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ใหญ่ๆ

     1.ระบำเทศนาซึ่งมีเนื้อหาในการสั่งสอนศีลธรรม (ระบำเจ้าชายและเจ้าหญิง ระบำกวางกับสุนัขล่าเนื้อ ระบำพิพากษาวิญญาณ)

     2.ระบำเพื่อสร้างความบริสุทธิ์และปกป้องคุ้มครองสถานที่ไม่ให้วิญญาณร้ายมาคุกคาม(ระบำเจ้าแห่งเชิงตะกอน ระบำกวาง ระบำเทพเจ้าภาคดุร้าย ระบำหมวกดำ ระบำกิงกับโชลิง ระบำกิงรำไม้เท้า ระบำกิงรำดาบ)

     3.ระบำประกาศชัยชนะของพุทธศาสนาและบารมีของคุรุรินโปเซ (ระบำที่ใช้กลอง ระบำวีระบุรุษ ระบำภาคสำแดงเดชทั้งแปดของคุรุรินเปโช

ระบำหมวกดำ (ชานัก)

1.ระบำหมวกดำ

ระบำหมวกดำ (ชานัก)

     จัดเป็นระบำที่สวยงาม ใช้ผู้แสดงเป็นตัวแทนของเทพเจ้าทางฝ่ายตันตระผู้ทรงฤทธานุภาพ เสด็จลงมาเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้ายและสร้างความบริสุทธิ์ให้กับมณฑลที่ใช้แสดงระบำทุกย่างก้าวที่เยื้องกรายไป เนื้อหาของระบำเล่าถึงเรื่องราวการลอบสังหารพระเจ้าลัดามาแห่งทิเบตใน ค.ศ.842 พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ชิงชังรังเกียจและกระทำย่ำยีพุทธศาสนาจนพระลามะนามว่า เปลกี โดร์จีทนไม่ได้จึงได้มาลอบสังหารโดยซ่อนธนูและลูกศรไว้ในแขนเสื้อที่ทั้งกว้างและใหญ่ ผู้แสดงจะรัวกลองไปในขณะที่ขยับตัวไปตามจังหวะเพื่อแสดงชัยชนะที่มีเหนือภูติผีปิศาสจและวิญญาณชั่วร้าย

ระบำมือกลองจากดราเมซี (ดราเมชีงาซัม)

2.ระบำตีกลอง

ระบำมือกลองจากดราเมซี (ดราเมชีงาซัม)

     ถือเป็นระบำที่มีคนรู้จักกันมากที่สุด คิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 16 ที่อารามดราเมชี ในเขตภูฏานตะวันออกโดยเกจิอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งนิมิตเห็นภาพสรวงสวรรค์ของท่านคุรุรินโปเซ ระบำนี้ใช้ผู้แสดง 12 คน สวมชุดสีเหลืองกับหน้ากากสัตว์ ตีกลองไปพร้อมกับเยื้องย่างไปพลาง แสดงตนเป็นสาวกของคุรุรินโปเซไปพร้อมๆ กับการประกาศชัยชนะของพระศาสนา

ระบำเจ้าแห่งเชิงตะกอน (ดูร์ดัก)

     ถ้าจะดูให้เข้าใจก็ต้องศึกษาสัญลักษณ์ต่างๆ ของพุทธศาสนาตันตระมาก่อน ผู้แสดงจะสวมชุดโครงกระดูกเฝ้าพิทักษ์รักษาเขตเชิงตะกอนทั้งแปดทิศที่สุดขอบแผนภูมิจักรวาล อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้าทั้งหลายในนิกายตันตระ พวกเขามีหน้าที่ปกปักรักษาเขตแผนภูมิจักรวาลไม่ให้อำนาจและวิญญาณชั่วร้ายเล็ดลอดเข้ามาได้

ระบำเทพเจ้าภาคดุร้าย (ตุนกัม)

2.ระบำตีกลอง

ระบำเทพเจ้าภาคดุร้าย (ตุนกัม)

     ผู้แสดงจะสวมชุดผ้าลายดอก สวมหน้ากากเทพเจ้าภาคดุร้ายและแสดงตนเป็นบริวารของคุรุโดร์จี โดรเล (ซึ่งเป็นภาคสำแดงหนึ่งของคุรุรินโปเซ) ผู้เต้นนำอยู่หน้าขบวน ในมือถือกริชพุรปา สำหรับใช้จ้วงแทนวิญญาณร้าย ปลดปล่อยดวงจิตของพวกมันจากกายเนื้อให้ได้ไปผุดไปเกิดใหม่

 

ระบำพิณ (ดรัมเย็นซัม)

     เป็นระบำเฉลิมฉลองการก่อตั้งและความรุ่งเรืองของนิการดรุ๊กปะ

 

 

ระบำเพลงศาสนา (ดรัมเย็นซัม)

     คล้ายระบำพิณ ชุดที่ใช้สวมใส่ในการแสดงเป็นแบบเดียวกัน ระบำกับบทเพลงที่ขับขานเป็นการรำลึก ถึงวาระที่ท่านซังปา กาเร เยเช โดร์จี (ผู้ก่อตั้งนิกายดรุ๊กปะ) ออกเดินทางไปแสวงบุญยังภูเขาซารีในทิเบต

ระบำกวางทั้งสี่ (ซาชัม)

5.ระบำกวาง

ระบำกวางทั้งสี่ (ซาชัม)

     เป็นระบำรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่คุรุรินโปเซเสด็จไปปราบวายุเทพ แล้วยึดเอากวางของวายุเทพมาเป็นพาหนะของตน

 

ระบำการพิพากษาวิญญาณ (รักซามาร์ซัม)

     เป็นหนึ่งในระบำที่น่าสนใจที่สุดในงานเทศกาลเซซู เป็นระบำเทศนาสั่งสอน แบ่งออกเป็นสององค์ คือ

องค์แรก : เริ่มด้วยการเต้นระบำของบรรดารักซาผู้เป็นบริวารของพระยม ผู้แสดงจะสวมชุดกระโปรงสีเหลืองกับหน้ากากรูปหน้าสัตว์ จากนั้นเทพชินจี เกอกี กัลโปจะปรากฎตัวขึ้นพร้อมลูกน้องคนสนิท คือเทพขาวกับภูตดำผู้เฝ้าติดตามจับตาดูการประกอบกุศลกรรมและอกุศลกรรมของสรรพสัตว์อยู่ไม่ว่างเว้น พระยมเป็นภาคดุร้ายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถึงตอนนี้ การพิพากษาจะเริ่มต้นขึ้นด้วยผู้เข้ารับการพิพากษารายแรกเป็นวิญญาณบาปในชุดและหน้ากากสีดำ มือถือตะกร้าใส่เนือเอาไว้ชิ้นหนึ่ง (เนื้อเป็นสัญลักษณ์แทนความผิดบาป) พระยมจะรับฟังเรื่องราวจากปากของดวงวิญญาณ แล้วนำบาป-บุญ ขึ้นชั่งโดยใช้หินกรวดสีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนบุญ สีดำแทนบาป เทพขาวพยามยามช่วยดวงวิญญาณด้วยการยกเอากุศลผลบุญที่เขาเคยทำมาอ้าง ในขณะที่ภูติดำเอาความผิดบาปทั้งมวลมาตีแผ่ สุดท้าย วิญญาณบาปก็ถูกพิพิพากษาให้ตกนรก ทำให้ภูตดำแสนจะยินดี ตรงรี่เข้าผลักไสวิญญาณบาปเข้าสู่เส้นทางลงนรกที่ปูผ้าสีดำลาดเอาไว้เป็นสัญลักษณ์

องค์สอง : จะเปิดฉากด้วยระบำทั่วไป จากนั้นวิญญาณที่ดีจะปรากฎขึ้นโดยสวมชุดสีขาว ทาหน้าสีขาว และถือธงมนต์เอาไว้ในมือเพื่อสื่อถึงศรัทธาอันแก่กล้าที่มีต่อพระศาสนา การพิพากษาเหมือนฉากก่อนหน้านี้ จะดำเนินซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง ครั้งนี้วิญญาณดีได้รับตัดสินให้ได้ขึ้นสวรรค์ตามเส้นทางที่ใช้ผ้าสีขาวปูลาดเอาไว้เป็นสัญลักษณื ภูตดำพยายามจะยึดตัวเขาเอาไว้ในวินาทีสุดท้าย แต่เทพขาวก็ช่วยเอาไว้ได้ เขาจึงได้ขึ้นสวรรค์ไปพบกับการต้อนรับจากเหล่าเทพยดาทั้งหลาย

 

ระบำเจ้าชายและเจ้าหญิง (โพเลโมเล)

     เป็นหนึ่งในระบำที่ชาวภูฏานชื่นชอบกันมากที่สุด แต่ติดจะหยาบโลนอยู่สักหน่อย ระบำนี้กล่าวถึงกษัตริย์องค์หนึ่ง นามว่า นอร์ชัง พระองค์มีมเหสีหลายองค์ แต่ทรงโปรดพระนางยีโดรมากยิ่งกว่าใคร ทำให้ชายาองค์อื่นๆ ริษยา จึงวางแผนให้พระองค์เสด็จไปทำศึก จากนั้น ก็ใช้กำลังเข้าคุกคามจนพระนางยีโดรมาต้องหนีไปหลบอยู่กับบิดา เพราะเกรงว่าจะถูกป้องร้ายหมายชีวิต เมือ่พระเจ้านอร์ชังเสด็จกลับมา ไม่นานก็ทรงจับกลอุบายของชายาทั้งหลายได้ จึงเสด็จไปทรงง้อและรับพระนางยีโดรมากลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิม

 

ระบำกวางกับสุนัขล่าเนื้อ (ชาวาชาชี)

     ป็นระบำเล่าเรื่องราวของพรานป่านามว่า กมโป โดร์จี ผู้กลับใจยอมหันมานับถือพุทธศาสนาหลังได้พบกับมิลาเรปะ (ปีค.ศ.1040-1123) มีให้ชมกันในงานเซซู ถือเป็นระบำที่คล้ายละครยิ่งกว่าระบำอื่นๆ เนื่องจากเนื้อเรื่องยาวมากจึงต้องแบ่งการแสดงออกเป็นสององก์ แต่ละองก์จะใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม ระบำนี้กล่าวถึงว่า ขณะที่มิลาเรปะเข้าฌานอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีเสียงร้องตะโกนโหวกเหวกและเสียงสุนัขเห่าดังมาให้ได้ยิน ท่านจึงออกจากถ้ำมาดู พบกวางตัวหนึ่งยืนเหงื่อโทรมกายตัวสั่นระริกด้วยความหวาดกลัว ท่านจึงขับเพลงปลอบกวางให้สงบลง แล้วพากวางกลับเข้าไปถ้ำด้วยกัน ไม่นานสุนัขล่าเนื้อสองตัวก็ตามมาถึงในถ้ำ แต่มิลาเรปะก็ขับลำนำธรรมคีตาทำให้พวกมันคล้ายความดุร้ายลงได้ แล้วจู่ๆ นายพรานก็ปรากฎตัวขึ้นร้องเรียกหาสุนับของตน พอเห็นพวกมันนอนหมอบอยู่แทบเท้าของมิลาเรปะ นายพรานก็โกรธจัด ยิงธนูอาบยาพิษใส่ท่านทันที แต่มิลาเรปะใช้อาคมชิงเอาคันธนูยิงย้อนกลับไปหาเจ้าตัว ทำให้นายพรานอัศจรรย์ใจมาก ท่านจึงใช้ธรรมคีตาเกลี้ยกล่อมให้พรานผู้นั้นให้เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและหันมานับถือพุทธศาสนาในที่สุด

 

ระบำกิงกับโชลิง (กิงดังโชลิง)

     กล่าวกันว่า คุรุรินโปเซทรงแสดงระบำนี้เป็นครั้งแรกด้วยพระองค์เองในศตวรรษที่ 8 ที่อารามซัมเมในประเทศทิเบต โชลิง คือ บรรดาเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาพระศาสนาในภาคสุดท้ายออกมาสำแดงกายเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสร้างความบริสุทธิ์ให้กับสถานที่ จากนั้น พวกกิง (เหล่าผู้ติดตามของคุรุรินโปเซ) ก็จะออกมาไล่โชลิงไปแล้วยึดครองพื้นที่แทน พร้อมรัวกลองแสดงชัยชนะของพุทธศาสนา ผู้แสดงจะใช้ไม้ตีกลองเคาะศีรษะผู้ชมเพื่อขับไล่มลทินความผิดบาปต่างๆ ชาวบ้านจะพร้อมใจกันผิวปากเพื่อขับไล่ภูติผีปิศาจไปให้พ้นตัวเช่นกัน ระบำส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทิเบต หรือเนปาล ส่วนบทเพลงที่ใช้มักจะมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาเป็นส่วนใหญ่

bottom of page